ประวัติวัดศีรษะทอง
ประวัติเจ้าอาวาส
ตำนานพระราหู
วัวธนูหลวงปู่น้อย
วัตถุมงคล
ปฏิทินงานบุญ
ที่ตั้งวัดศีรษะทอง
โรงเรียนวัดศีรษะทอง

วัวธนู
หลวงปู่น้อย คนฺธโชโต (นาวารัตน์)
วัดศีรษะทอง

     ชื่อเสียงของหลวงปู่น้อย คนฺธโชโต โด่งดังยิ่งในหมู่นักสะสมเครื่องรางของขลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกะลาแกะรูปพระราหู เป็นกะลารูปราหูอมจันทร์และอมพระอาทิตย์ทั้ง 2 แบบ ล้วนต่างเสาะแสวงหากัน

     อย่างไรก็ตามวัตถุมงคลของหลวงปู่น้อย คนฺธโชโต ที่เป็นพระเครื่องก็มีให้บูชาสะสมกันอย่างเช่น เหรียญหล่อพิมพ์พระพุทธชินราช ทั้งแบบพิมพ์ซุ้มเรือนแก้วลายกระหนก และพิมพ์ซุ้มเรือนแก้วลายกระหนกเศียรนาค เป็นเหรียญหล่อที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2487 แต่สำหรับวัตถุมงคลของหลวงปู่น้อย คนฺธโชโต อีกรูปแบบหนึ่งที่จะกล่าวถึงคือ วัวธนู เป็นวัวธนูที่สร้างสืบทอดตำราจากหลวงปู่ไตร อดีตเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดศีรษะทอง และผสมผสานกับตำราของบิดา ซึ่งเป็นหมอแผนโบราณ

     วัวธนูของหลวงปู่น้อย มีด้วยกัน 2 แบบ แบบแรกเป็นวัวธนูที่แกะจากปลายยอดเขากระทิงแต่ค่อนข้างหายาก เนื่องเพราะเขาข้างเดียวแกะได้เพียงตังเดียงเท่านั้น อีกทั้งการแกะต้องแกะในช่วงเวลาตามตามฤกษ์กำหนดด้วย

     ส่วนแบบที่สองเป็นวัวธนูที่ปั้นขึ้นจากครั่ง ซึ่งครั่งที่จะนำมาสร้างวัวธนูต้องนำมาจากกิ่งพุทราที่ชี้ไปทางทิศตะวันออก กล่าวว่าต้องใช้ครั่งถึง 3 ต้นขึ้นไป แต่หากได้จากกิ่งตายพรายใช้เพียงกิ่งเดียวก็พอ ด้วยมีอนุภาพตามความเชื่อ แต่การสร้างวัวธนูนั้นมิใช่ครั่งแต่เพียงอย่างเดียวไม่ หากยังผสมมวลสารอื่นๆไว้อีก และเวลาที่ปั้นเป็นรูปวัวธนูจะใช้ลวดทองแดงหรือลวดเงินเป็นแกนยึดไว้ข้างใน วัวธนูที่ปั้นมีทั้งตัวใหญ่ ตัวเล็ก สวยบ้าง ไม่สวยบ้าง แล้วแต่ฝีมือการปั้นของแต่ละคนที่มาช่วยกัน

     นอกจากนั้นการปั้นวัวธนูด้วยครั่งนี้ ต้องทำตามฤกษ์เวลาที่ตำราระบุไว้ด้วย ซึ่งตามตำราระบุช่วงเวลาของฤกษ์ต่างกันตามช่วง คือ

     ฤกษ์วันมาฆบูชา กำหนดฤกษ์ในช่วงตั้งแต่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปจนถึงเที่ยงคืน แต่ต้องเลือกตัดฤกษ์ช่วงหนึ่งช่วงใดที่ดีที่สุดอาจจะ 1-3 ชั่วโมงตามแต่ช่วงฤกษ์

     ฤกษ์วันวิสาขบูชา กำหนดฤกษ์ตั้งแต่พระอาทิตย์พ้นขอบฟ้าตอนเช้าถึงเที่ยง และเลือกตัดฤกษ์เช่นเดียวกับฤกษ์วันมาฆบูชา

     ฤกษ์วันอาสาฬบูชา กำหนดฤกษ์ตั้งแต่บ่าย โดยคาดคะเนจากตอนพระอาทิตย์อยู่เหนือยอดไม้ใกล้ลับขอบฟ้าไปจนถึงพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าฤกษ์ในวันนี้ไม่ต้องตัดฤกษ์แต่ประการใด ด้วยวันนี้เป็นวันดีอยู่แล้ว

     กล่าวสำหรับดอกไม้ในพิธี ก็มีกำหนดไว้เช่นกัน ฤกษ์วันมาฆบูชาใช้ดอกไม้ 4 สี ในความหมายถึง จาตุรงคสันนิบาต วันวิสาขบูชา ใช้ดอกไม้ 3 สี ในความหมายถึง ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน วันอาสฬหบูชา ใช้ดอกไม้ 8 สี ในความหมายถึง มัชฌิมาปฏิปทา หรือมรรค 8

     กระนั้นเมื่อได้ฤกษ์เวลาตามกำหนดแล้ว ก่อนปั้นวัวธนู ต้องเริ่มกระทำพิธีบวงสรวงเครื่องใช้ในพิธีได้แก่ ราชวัติ (รั้วแถวที่มีฉัตรปักเป็นระยะๆ) ฉัตร ธง ต้นอ้อย เครื่องบัตรพลี บายศรีเก้าชั้น บายศรีปากชาม

     พิธีกระทำกันในอุโบสถ มีโรงพิธีสี่เหลี่ยม เพดาน คาดด้วยผ้าขาวขลิบทอง

     เครื่องสังเวยประกอบด้วย หัวหมู เครื่องพล่า ปลายำ ผลไม้นานาชนิด ล้อมวงด้วยด้ายสายสิญจน์รอบอุโบสถ

     วัวธนูที่หลายคนเคยได้ยินได้ฟัง จะพบว่ามักถูกเสกให้มีร่างกายใหญ่โตเท่าวัวจริง ส่งไปสู้กับฝ่ายตรงข้าม แต่สำหรับวัวธนูของหลวงปู่น้อย คนฺธโชโต เป็นวัวธนูที่สร้างขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล กล่าวคือ ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอาวุธเข่นฆ่าแต่ประการใด หากจะได้เห็นจากอุปเท่ห์ (วิธีการดำเนินการ) การใช้วัวธนูของหลวงปู่น้อย คนฺธโชโต ซึ่งกล่าวไว้ว่า

     ถ้าจะค้าขายก็ดี หรือไปติดต่อผู้ใด ให้พกวัวธนูติดตัวไป จะสำเร็จสมปรารถนาที่ตั้งไว้ ถ้ามีศัตรูคู่อริคิดทำลายชีวิต หรืออาฆาตมาดร้ายมานานก็ดี เอาวัวธนูพกติดตัวไป หากพบเจอกันได้เจรจากันแล้ว เขาจะเห็นใจเลิกอาฆาตจองเวร หายโกรธแค้น ถ้าไปหาผู้ใหญ่ ขุนนาง ท้าวพระยา ให้เอาวัวธนูรดน้ำแล้วใช้ประพรมสิ่งของที่จะนำไปมอบให้กับผู้ใหญ่ท่านนั้น เขาจะรัก จะเมตตา ถ้าจะใช้ป้องกันตัว ให้นำน้ำรดวัวธนู มารดตัวศัตรูจะเกรงขาม ถ้าวัวควายสัตว์เลี้ยงป่วยไม่สบาย ให้นำน้ำรดวัวธนู นำไปประพรมหญ้า อาหาร ถ้าจะให้เป็นมงคลแก่ตัว ให้นำน้ำที่รดวัวธนู มาใส่น้ำอาบตัวเรา

     หากผู้หนึ่งผู้ใดบูชาวัวธนูทุกค่ำเช้า ผู้นั้นย่อมเจริญ วิธีบูชาวัวธนูนั้น ให้นำใบพุทรา 7 ใบ หญ้าคา 7 ยอด หรือใบ มาขดให้เป็นวงแหวนเอาใส่ในที่ตั้งวัวธนู

พระอธิษฐานจิตนั่งปรก 15 รูป
1. พระเดชพระคุณพระราชรัตนมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม
2. พระครูสถาพรธรรมประโชติ วัดดอนชัย (ท่ารั้ว) จ.เชียงใหม่
3. หลวงปู่เจือ วัดกลางบางแก้ว
4. หลวงพ่อชอบ วัดสว่างอารมณ์ จ.สุพรรณบุรี
5. หลวงพ่อป่วน วัดบรรหารแจ่มใส จ.สุพรรณบุรี
6. พระครูอนุกูลพิศาลกิจ(หลวงพ่อสำอางค์) วัดบางพระ
7. หลวงพ่อเฉลิม วัดบ้านระกาศ จ.สมุทรปราการ
8. พระครูวิบูลสิริธรรม(หลางพ่อเพี้ยน) วัดตุ๊กตา
9. พระครูพิทักษ์วีรธรรม(หลวงพ่อสืบปืนเสีย) วัดสิงห์
10. พระมงคลวรากร(หลวงพ่อชาญ) วัดบางบ่อ จ.สมุทรปราการ
11. พระครูสิโรตม์สุวรรณารักษ์ วัดศีรษะทอง
12. พระครูจันทเขมคุณ(หลวงพ่อเกษม) วัดทุ่งน้อย
13. พระครูยติธรรมานุยุต(อาจารย์แป๊ะ) วัดสว่างอารมณ์
14. พระครูอมรวิสุทธิคุณ(หลวงพ่อสาย) วัดหลวงประชาบูรณะ
15. พระอาจารย์สายัณต์ โฆสธมโม วัดไทร




 

 



วัดศีรษะทอง (วัดพระราหู)
ตำบลศีรษะทอง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
ติดต่อสอบถาม โทร. 034-227462 โทรสาร. 034-338226
http://www.watphrarahoo.com